สำเนาจาก ทิศนา แขมมณี , 2545 , ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , กรุงเทพฯ.
เอกสารประกอบการจัดกิจกรรมโดย ดร.รุ่งฟ้า กิติญาณุสันต์
บลูม (Bloom) ได้จัดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาไว้ 3 ด้านคือ ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ซึ่งในด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) นั้น บลูมได้จัดระดับจุดมุ่งหมายตามระดับความรู้จากต่ำไปสูงไว้ 6 ระดับคือ ระดับความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแนวในการตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อถามคำถามแล้วพบว่า ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ผู้สอนควรตั้งคำถามในระดับที่สูงขึ้น คือระดับความเข้าใจ หรือถ้าผู้เรียนมีความเข้าใจแล้ว ผู้สอนก็ควรตั้งคำถามในระดับที่สูงขึ้นไปอีก คือระดับการนำไปใช้การที่ผู้สอนจะสามารถตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของผู้เรียนตามจุดมุ่งหมายทางด้านพุทธิพิสัยของบลูมให้สูงขึ้นนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องมีความเข้าใจในความหมายของระดับความรู้ทั้ง 6 ประการ ผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของความรู้แต่ละระดับ และพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรู้นั้น ดังนี้
1 การเรียนรู้ในระดับความรู้ ความจำ (knowledge) การเรียนรู้ในระดับนี้เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มามีสาระอะไรบ้าง ซึ่งการที่สามารถตอบได้นั้น ได้มาจากการจดจำเป็นสำคัญ ดังนั้น คำถามที่ใช้ในการทดสอบการเรียนรู้ในระดับนี้ จึงมักเป็นคำถามที่ถามถึงข้อมูล สาระ รายละเอียดของสิ่งที่เรียนรู้ และให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าตนมีความรู้ความจำในเรื่องนั้น ๆ ดังตัวอย่างดังนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับความรู้ความจำ
- บอก - รวบรวม
- เล่า - ประมวล
- ชี้ - จัดลำดับ
- ระบุ - ให้ความหมาย
- จำแนก - ให้คำนิยาม
- ท่อง - เลือก
เนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- ศัพท์ - วิธีการ
- เกณฑ์ - หมวดหมู่
- กระบวนการ - ระบบ
- รายละเอียด - ความสัมพันธ์
- ระเบียบ -บุคคล
- สาเหตุ - แบบแผน
- เหตุการณ์ - หลักการ
- ทฤษฎี - โครงสร้าง
- สถานที่ - องค์ประกอบ
- สัญลักษณ์ - เวลา
- กฎ - คุณลักษณะ
2 การเรียนรู้ในระดับความเข้าใจ (comprehension) หมายถึงการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนเข้าใจความหมาย
ความสัมพันธ์และโครงสร้างของสิ่งที่เรียนและสามารถอธิบายสิ่งที่เรียนรู้นั้นได้ด้วยคำพูดของตนเอง ผู้เรียนที่มี
ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หลังจากได้ความรู้ในเรื่องนั้นมาแล้ว จะสามารถแสดงออกได้หลายทาง เช่น
สามารถตีความได้ แปลความได้ เปรียบเทียบได้ บอกความแตกต่างได้ เป็นต้น ดังนั้น คำถามในระดับนี้
จึงมักเป็นคำถามที่ช่วยให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความเข้าใจของตนในเรื่องนั้น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับความเข้าใจ
- อธิบาย (โดยใช้คำพูด) - ขยายความ
- เปรียบเทียบ - ลงความเห็น
- แปลความหมาย - แสดงความคิดเห็น
- ตีความหมาย - คาดการณ์ คาดคะเน
- สรุป ย่อ - ทำนาย
- บอกใจความสำคัญ - กะประมาณ
เนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- ศัพท์ - วิธีการ
- ความหมาย - กระบวนการ
- คำนิยาม - ทฤษฎี หลักการ
- สิ่งที่เป็นนามธรรม - แบบแผน โครงสร้าง
- ผลที่จะเกิดขึ้น - ความสัมพันธ์
- ผลกระทบ - เหตุการณ์ สถานการณ์
3 การเรียนรู้ในระดับการนำไปใช้ (application) หมายถึงการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนสามารถนำข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจที่ได้เรียนรู้มาไปใช้ในการหาคำตอบและแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นคำถามในระดับนี้จึงมักประกอบด้วยสถานการณ์ที่ผู้เรียนจะต้องดึงความรู้ ความเข้าใจ มาใช้ในการหาคำตอบ โดยผู้เรียนมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับสามารถนำไปใช้ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับการนำความรู้ไปใช้
- ประยุกต์ ปรับปรุง- แก้ปัญหา
- เลือก- จัด
- ทำ ปฏิบัติ แสดง สาธิต ผลิต
เนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- กฎ - วิธีการ
- หลักการ - กระบวนการ
- ทฤษฎี - ปัญหา
- ปรากฏการณ์ - ข้อสรุป
- สิ่งที่เป็นนามธรรม - ข้อเท็จจริง
4 การเรียนรู้ในระดับการวิเคราะห์ (analysis) หมายถึงการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนต้องใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดที่ลึกซึ้งขึ้นเนื่องจากไม่สามารถหาคำตอบได้จากข้อมูลที่มีอยู่โดยตรง ผู้เรียนต้องใช้ความคิดหาคำตอบจากการแยกแยะข้อมูลและหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่แยกแยะนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือการเรียนรู้ในระดับ
ที่ผู้เรียนสามารถจับได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ เหตุผลหรือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง
การวิเคราะห์โดยทั่วไป มี 2 ลักษณะคือ
4.1 การวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้ได้ข้อสรุปและหลักการที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้
4.2 การวิเคราะห์ข้อสรุป ข้ออ้างอิง หรือหลักการต่าง ๆ เพื่อหาหลักฐานที่สามารถสนับสนุนหรือปฏิเสธข้อความนั้นตัวอย่างพฤติกรรมที่สามารถบ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับวิเคราะห์ได้ มีดังนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับการวิเคราะห์
- จำแนกแยกแยะ - หาข้ออ้างอิง
- หาเหตุและผล - หาหลักฐาน
- หาความสัมพันธ์ - ตรวจสอบ
- หาข้อสรุป - จัดกลุ่ม
- หาหลักการ - ระบุ ชี้
เนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- ข้อมูล ข้อความ เรื่องราว เหตุการณ์
- เหตุและผล องค์ประกอบ ความคิดเห็น
- สมมติฐาน ข้อยุติ ความมุ่งหมาย
- รูปแบบ ระบบ โครงสร้าง
- วิธีการ กระบวนการ
5 การเรียนรู้ในระดับการสังเคราะห์ (synthesis) หมายถึงการเรียนรู้ที่อยู่ในระดับที่ผู้เรียนสามารถ
(1) คิด ประดิษฐ์ สิ่งใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ ความคิด หรือ ภาษา
(2) ทำนายสถานการณ์ในอนาคตได้
(3) คิดวิธีการแก้ปัญหาได้ (แต่แตกต่างจากการแก้ปัญหาในขั้นการนำไปใช้ ซึ่งจะมีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว แต่วิธีการแก้ปัญหาในขั้นนี้ อาจมีคำตอบได้หลายคำตอบ) พฤติกรรมที่สามารถบ่งชี้การเรียนรู้ในระดับนี้ มีดังนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับการสังเคราะห์
- เขียนบรรยาย อธิบาย เล่า บอก เรียบเรียง
- สร้าง จัด ประดิษฐ์ แต่ง ดัดแปลง ปรับ แก้ไข ทำใหม่ ออกแบบ ปฏิบัติ
- คิดริเริ่ม ตั้งสมมติฐาน ตั้งจุดมุ่งหมาย ทำนาย
- แจกแจงรายละเอียด จัดหมวดหมู่
- สถานการณ์ วิธีแก้ปัญหา
เนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- ความคิด การศึกษาค้นคว้า แผนงาน
- สมมติฐาน จุดมุ่งหมาย
- ทฤษฎี หลักการ โครงสร้าง รูปแบบ แบบแผน ส่วนประกอบ ความสัมพันธ์ แผนภาพ แผนภูมิ ผังกราฟิก
6 การเรียนรู้ในระดับการประเมินผล (evaluation) หมายถึงการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนต้องใช้การตัดสินคุณค่า ซึ่งก็หมายความว่า ผู้เรียนจะต้องสามารถตั้งเกณฑ์ในการประเมินหรือตัดสินคุณค่าต่าง ๆ ได้ และแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้นได้ พฤติกรรมบ่งชี้การเรียนรู้ในระดับนี้มีตัวอย่างดังนี้
พฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเรียนรู้ในระดับการประเมินผล
- วิพากษ์วิจารณ์ ตัดสิน ประเมินค่า ตีค่า สรุป
- เปรียบเทียบ จัดอันดับ กำหนดเกณฑ์/กำหนดมาตรฐาน
- ตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น ให้เหตุผล บอกหลักฐานเนื้อหา/สิ่งที่ถามถึง
- ข้อมูล ข้อเท็จจริง การกระทำความคิดเห็น- ความถูกต้อง ความแม่นยำ
- มาตรฐาน เกณฑ์ หลักการ ทฤษฎี- คุณภาพ ประสิทธิภาพ
- ความเชื่อมั่น ความคลาดเคลื่อน อคติ
- วิธีการ ประโยชน์ ค่านิยม
ตัวอย่างการตั้งคำถาม ตามระดับจุดมุ่งหมายทางด้านพุทธิพิสัยของบลูม
สมมติว่า ครูระดับประถมศึกษาท่านหนึ่งต้องการสอนให้นักเรียนมีความรู้ในเรื่องกลอน 8 โดยให้นักเรียนอ่าน
เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ครูสามารถใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิด และค่อย ๆ ยกระดับการเรีนรู้ของผู้เรียนจากระดับต่ำสุดขึ้นไปจนถึงสูงสุดได้ดังนี้
ตัวอย่างคำถามระดับความรู้ความจำ
1. กลอน 8 คืออะไร
2. สัมผัสนอก คืออะไร
3. สัมผัสใน คืออะไร
4. ยกตัวอย่างกลอน 8 ที่จำได้มา 2 บท
ตัวอย่างคำถามระดับความเข้าใจ
5. จากตัวอย่างที่ให้นี้ กลอนบทไหนเป็นกลอน 8
6. กลอน 8 ต่างจากกลอน 4 อย่างไร
7. จงบรรยายความไพเราะของกลอน 8
8. ถ้านักเรียนต้องอธิบายให้เด็กที่ไม่รู้จักกลอน 8 มาก่อน ได้รู้จักลักษณะของกลอน 8 จะอธิบายอย่างไร
ตัวอย่างคำถามระดับการนำไปใช้
9. กลอน 8 จำนวน 2 บทนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับการสัมผัสอะไรบ้าง
10. จงปรับปรุงกลอนบทที่ให้มานี้ให้ดีขึ้น
11. บทกลอนที่ให้นี้ ยังไม่สมบูรณ์ จงเติมคำที่เหมาะสมลงในช่องว่างให้สมบูรณ์และถูกต้องตามหลักกลอน 8
12. กลอนบทนี้ มีลักษณะที่ผิดหลักกลอน 8 อยู่กี่แห่ง ตรงไหนบ้าง
ตัวอย่างคำถามระดับการวิเคราะห์
13. กลอนของสุนทรภู่บทนี้ ได้รับอิทธิพลจากอะไรบ้าง
14. กลอนของสุนทรภู่บทนี้ต้องการบอกความจริงอะไรแก่ผู้อ่าน
15. อะไรเป็นแรงจูงใจให้สุนทรภู่แต่งกลอนเรื่องพระอภัยมณี
16. ทำไมสุนทรภู่จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก
17. นักเรียนมีข้อมูลหรือหลักฐานอะไรที่สนับสนุนให้สุนทรภู่เป็นกวีเอกของโลก
ตัวอย่างคำถามระดับการสังเคราะห์
18. จงแต่งกลอน 8 ขึ้นมา 1 บท
19. ถ้าสุนทรภู่มีอายุยืนถึง 100 ปี ไม่ถูกประหารไปเสียก่อน นักเรียนคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น
20. ถ้าสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในยุคนี้ นักเรียนคิดว่า สุนทรภู่จะแต่งกลอนเรื่องอะไร มีแนวดำเนินเรื่องอย่างไร
21. จงให้ชื่อที่เหมาะสมและน่าสนใจแก่บทร้อยกรองต่อไปนี้
22. ถ้าสุนทรภู่เป็นศรีปราชญ์ บทโคลงของศรีปราชญ์จะมีลักษณะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร หรือถ้าศรีปราชญ์
เป็นสุนทรภู่ บทกลอนของสุนทรภู่จะมีลักษณะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร
ตัวอย่างคำถามระดับการประเมิน
23. กลอน 8 จำนวน 3 บทต่อไปนี้ บทไหนดีที่สุด เพราะอะไร
24. กลอน 8 บทนี้ ควรปรับปรุงอย่างไร จึงจะดีขึ้น
25. ถ้านักเรียนได้รับมอบหมายให้คัดเลือกกลอนของสุนทรภู่บางตอนจากเรื่อง พระอภัยมณีมาให้นักเรียน
ในโรงเรียนต่าง ๆ ศึกษา นักเรียนจะเลือกกลอนบทใด เพราะอะไร
ข้อควรคำนึงและพึงระวังในการใช้คำถาม
1. ถามคำถามทีละคำถาม ไม่ควรถามหลายคำถามติดต่อกัน
2. คำถามแต่ละคำถาม ไม่ควรมีประเด็นถามมากเกินไป
3. คำถามควรชัดเจน ถ้าคำถามกว้างเกินไป ผู้เรียนตอบไม่ตรงประเด็น ควรปรับคำถามให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
4. คำถามไม่ควรยาวเกินไป ผู้เรียนหรือผู้ตอบจะจำประเด็นไม่ได้ หรืออาจจะหลงประเด็นไปได้
5. ควรใช้น้ำเสียงและท่าทางที่เหมาะสมประกอบการถาม
6. เมื่อถามคำถามแล้ว ควรให้เวลาผู้เรียนคิด (wait time) พอสมควร จากผลการวิจัย (Cruickshank et al., 1995:346) พบว่า ถ้าผู้สอนให้เวลาแก่ผู้เรียนคิดประมาณ 3-5 นาที ผู้เรียนจะสามารถให้คำตอบที่ยาวขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น
7. ไม่ควรทวนคำถาม และไม่ควรทวนคำตอบของผู้เรียนบ่อย ๆ
8. ผู้สอนควรให้คำชมแก่ผู้เรียนบ้าง แต่ไม่บ่อยเกินไป ควรเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน และควรพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนการเสริมแรงจากภายนอก ไปสู่การเสริมแรงจากภายใน
9. หลีกเลี่ยงการชมประเภท ดี…แต่…
10. การชมต้องมีฐานจากความเป็นจริง และความจริงใจ
11. ถามผู้เรียนและให้โอกาสผู้เรียนในการตอบอย่างทั่วถึง ให้ความเสมอภาคแก่ผู้เรียนทั้งชายและหญิง ทั้งเก่งและอ่อน ทั้งที่สนใจและไม่สนใจเรียน
12. เมื่อถามคำถามแล้ว ผู้สอนควรเรียกให้ผู้เรียนตอบเป็นรายบุคคล ไม่ควรให้ผู้เรียนตอบพร้อมกัน
13. เมื่อถามแล้ว ถ้าไม่มีผู้ใดตอบได้ ควรตั้งคำถามใหม่ โดยใช้คำถามที่ง่ายขึ้น หรืออธิบายขยายความ
ขอบคุณค่ะ
ตอบลบ