รายงาน เรื่อง ปรัชญาการศึกษา
รายงานเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา หลักและพื้นฐานทางการศึกษาขั้นสูง
ที่นำเสนอต่อ ผศ.ดร. รุ่งฟ้า กิติญาณุสันต์
ความสัมพันธ์ของปรัชญาการศึกษากับการสอน
“ปรัชญา” มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ว่าเป็น “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2531) ปรัชญาการศึกษาจึงหมายถึง วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริงเกี่ยวกับการศึกษา ศักดิ์ชัย นิรัญทวี (2541) ได้ให้คำนิยามเชิงปฎิ
บัติการของปรัชญาการศึกษาไว้ว่า หมายถึง “แนวความคิดพื้นฐานและความคาดหวังในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น เรื่องลักษณะของสังคม ลักษณะของคน และการศึกษาที่พึงปรารถนา ในฐานะที่เป็นหลักการและเป้าหมายของการจัดการศึกษา” (ศักดิ์ชัย นิรัญทวี, 2541: บทสรุป) สาโรช บัวศรี (2525: 62) ได้ช่วยชี้ให้เห็นความหมายและความแตกต่างระหว่างปรัชญาการศึกษากับทฤษฎีการศึกษาไว้ว่าปรัชญาการศึกษา เป็นเรื่องของความคิดหรือระบบของความคิดหรือระบบของความคิดที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทอันใดอันหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความคิดแบบล่องลอย แต่ต้องเป็นความคิดที่แตกหน่อออกมาจากปรัชญาแม่บทอันใดอันหนึ่ง ถ้าไม่ได้แตกหน่อออกมาจากแม่บทใดๆ แล้ว จะเป็นเพียงหลักการศึกษาหรือทฤษฎีการศึกษา จากคำอธิบายนี้ปรัชญาการศึกษาจึงเป็นความคิดทางการศึกษาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไป ซึ่งเป็นปรัชญาว่าด้วยความเรียนรู้และความจริงของชีวิต ดังนั้นปรัชญาการศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กับการเรียนการสอนอย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่เป็นหลักหรือเหตุผลของการคิดและการกระทำต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาและการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อความศรัทธา ความเห็นดีเห็นงาม ความเชื่อถือในแนวคิดทางการศึกษา ซึ่งความเชื่อถือและความเห็นคุณค่านี้เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำในเรื่องที่มีความสอดคล้องกับความศรัทธาเชื่อถือนั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ความศรัทธาเชื่อถือนั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ 2 ทาง ทางแรกเกิดจากความคิด ความรู้สึกภายในหรือแรงบันดาลใจ ซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองจากประสบการณ์ต่างๆ ทางที่สองเกิดจากการได้เรียนรู้ในเรื่องนั้นจากบุคคลหรือประสบการณ์ที่ผู้อื่นจัดให้ จนกระทั่งเห็นคุณค่า หรือเกิดความศรัทธาเชื่อถือขึ้นมา หนทางแรกมักเกิดกับผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาต่างๆ ซึ่งเรามักถือกันว่าเป็น นักปราชญ์ นักคิดที่ลึกซึ้ง สามารถดึงความรู้จากภายในตัวเองออกมาและจูงใจให้ผู้อื่นเชื่อถือตามได้ ส่วนหนทางที่สอง มักเกิดกับผู้ศึกษาเล่าเรียน ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ความคิด ได้เห็นแบบอย่าง และได้รับประสบการณ์ในเรื่องนั้นจนเกิดการซึมซับความคิดนั้นเข้าไปในตนเอง ซึ่งถ้านำศัพท์ทางจิตวิทยามาอธิบายก็สามารถเรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้จากกระบวนการ “internalization” หรือกระบวนการซึมซับความคิดความเชื่อตามทางที่สองนี้มีจำนวนมากกว่าทางแรกมากดังจะเห็นว่า ผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาหรือนักปรัชญามีไม่มากนัก แต่ผู้ที่เชื่อถือในปรัชญาและผู้ที่ทำตามปรัชญามีเป็นจำนวนมาก ส่วนปรัชญาใดจะมีผู้ตามจำนวนมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ อีกมาก เช่น สาระของปรัชญา ความยากง่ายของปรัชญา วิธีการจูงใจ ความเหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ในยุคนั้น และสถานะของบุคคลที่คล้อยตาม เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสากลแนวต่างๆ
ปรัชญาการศึกษาซึ่งเป็นที่นิยมกันในกลุ่มประเทศในเขตซีกโลกตะวันตกและเผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ที่สำคัญๆ มีดังนี้
1. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)
ปรัชญาสารัตถนิยม เป็นปรัชญาการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาจิตนิยม(Idealism)
และปรัชญาสัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นปรัชญาทั่วไป
ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวจิตนิยม มีความเชื่อถือว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการสืบทอดมรดกทางสังคม ซึ่งคือวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทั้งหลายอันเป็นแก่นสาระสำคัญ (Essence) ของสังคมให้ดำรงอยู่ต่อ ๆ ไป ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม อันเป็นแก่นสำคัญซึ่งสังคมนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม สมควรที่จะรักษาและสืบทอดให้อนุชนรุ่นต่อๆ ไป การจัดการเรียนการสอนจะเน้นบทบาทของครูในการถ่ายทอดความรู้และสาระต่าง ๆ รวมทั้งคุณธรรมและค่านิยมที่สังคมเห็นว่าดีงามแก่ผู้เรียน ผู้เรียนในฐานะผู้รับสืบทอดมรดกทางสังคม ก็จะต้องอยู่ในระเบียบวินัย และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ครูถ่ายทอดให้อย่างตั้งใจ
ส่วนปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวสัจนิยมนั้น (Stumpf, 1994 : 325-340) เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอกความรู้และความจริงทางธรรมชาติเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ความจริง และการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ การจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อนี้จึงเน้นการให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และการสรุปกฏเกณฑ์จากข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น
2. ปรัชญาสัจนิยมวิทยา (Paternalism)
ปรัชญานี้บางท่านเรียกว่า ปรัชญานิรันดรนิยม ปรัชญานี้เชื่อว่า โลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่า
ถาวร คงที่ และไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไปสิ่งที่มีคุณค่าถาวรดังกล่าว ได้แก่ ศาสนา ความดี และเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันและในอนาคตตลอดไป
ปรัชญานี้เชื่อว่า (Kneller, 1964 : 107-111) คนมีธรรมชาติเหมือนกัน ทุกคน ดังนั้น การศึกษาจึงควรเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน และเนื่องจากมนุษย์มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากสัตว์อื่น คือเป็นผู้สามารถใช้เหตุผล ดังนั้นการศึกษาจึงควรเน้นการพัฒนาความมีเหตุผล และการใช้เหตุผล มนุษย์จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการดำรงชีวิตและควบคุมกำกับตนเอง มิใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ การศึกษาเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิตเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับความจริงแท้ที่แน่นอน ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งวัตถุ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้ ดังนั้นเด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เขาได้รู้จักและเรียนรู้ความจริงที่เป็นสัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ และจิตใจ และวิชาหรือเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงแท้ แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เด็กควรจะได้ศึกษาเล่าเรียนคือ “Great Books” ซึ่งประกอบด้วย ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาและดนตรี
การจัดการเรียนการสอนตามปรัชญานี้ (Kneller, 1964 : 112) จึงมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนจดจำใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแล ให้ผู้เรียนอยู่ในระเบียบวินัย
การจัดการเรียนการสอนโดยปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระจนเกินไปในการที่จะเลือกเรียนตามใจชอบ เป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริงของเขา การค้นพบตัวเองต้องอาศัยระเบียบวินัยในตนเอง และระเบียบวินัยในตนเองไม่ใช่ได้มาโดยไม่ต้องอาศัยวินัยจากภายนอก ความสนใจในสิ่งที่เป็นความจริงแท้นั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน แต่มันจะไม่สามารถแสดงออกม่ได้โดยง่าย ต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและดึงความสามารถเหล่านี้ออกมา
3. ปรัชญาพิพัฒนนิยม (Progressivism)
บางท่านเรียกปรัชญาการศึกษานี้ว่า ปรัชญาพิพัฒนาการ หรือปรัชญาพัฒนาการ ปรัชญานี้มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาแม่บทคือ ปรัชญา “Pragmatism” หรือปรัชญา “ปฏิบัตินิยม” ซึ่งได้รับแนวคิดมาจาก ชาลส์ เอส เพียช (Charles S. Pierce) และได้รับการเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้น โดย
วิลเลียมเจมส์ (William James) จนได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการศึกษาและในกระบวนการทางกฎหมาย
ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Stumpf, 1994 :383-400 and Dewey, 1964: 25-50) ให้ความสนใจอย่างมากต่อการ “ปฏิบัติ” หรือ “การลงมือกระทำ” ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” สนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ “การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ” นักปรัชญากลุ่มนี้เห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม ดิวอี้ได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองและประยุกต์ใช้ในการศึกษา เขาได้เสนอและการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “learning by doing” เขาได้ทดลองให้เด็กเรียนรู้จากการกระทำในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กได้รับอิสระในการริเริ่มความคิดและลงมือทำตามที่คิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนั้น ดิวอี้ ยัได้เน้นความสำคัญของประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาตามปรัชญานี้จึงเน้นการปลูกฝังการฝึกฝนอบรมในเรื่องดังกล่าวโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (experience) และเรียนรู้จากการคิด การลงมือทำและการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
4. ปรัชญาอัตนิยม (Existentialism)
นักปรัชญาคนสำคัญของปรัชญานี้คือ เคิร์กการ์ด (Kierkegaard) และ ซาร์ต (Sartre) ปรัชญานี้ให้ความสนใจที่ตัวบุคคล หรือความเป็นอยู่ มีอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมักจะถูกละเลย ปรัชญานี้เชื่อว่า ความจริง (truth) เป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ (Stumpf, 1994 : 486) สาระความเป็นจริงก็คือ ความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ (existence) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง โดยการเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “existential situation” ซึ่งบุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง
การจัดการศึกษาตามปรัชญานี้ (Stumpf,1994 :481-490) จึงให้ความสำคัญกับการให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และสนับสนุนส่งเสริมผู้เรียนในการค้นหาความหมายและสาระสำคัญของชีวิตของเขาเอง ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่เรียนตามที่ตนต้องการ มีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจเมื่อเผชิญกับปัญหาและสถารการณ์ต่าง ๆ และรับผิดชอบในการตัดสินใจหรือการกระทำของตน เนื้อหาของหลักสูตรนี้มุ่งไปที่สาระที่จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจตนเองและเป็นตัวของตัวเอง เช่น ศิลป ปรัชญา การเขียน การอ่าน การละคร ฯลฯ และเน้นการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล ตัวอย่างของการจัดการศึกษาแบบนี้คือที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) เป็นต้น
5. ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
ปรัชญานี้เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม หรือการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น โดยการช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การจัดระเบียบของสังคม การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และการส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ด้วยเหตุดังกล่าว การศึกษาที่จัดตามปรัชญานี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนที่มีต่อสังคมและการปฏิรูปให้สังคมดีขึ้น เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นสาระที่เกี่ยวข้องกับสภาพและปัญหาของสังคม กระบวนการประชาธิปไตยและประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ส่วนการจัดการเรียนการสอนนั้น จะเน้นการให้ผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม และเน้นกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมประชาธิปไตย
6. ปรัชญาการศึกษาผสมผสาน (Eclecticism)
เนื่องจากปรัชญาการศึกษาแต่ละปรัชญาล้วนมีแง่มุมและมีจุดเด่นกันไปคนละแบบ จึงเกิดมีการนำเอาประเด็นต่าง ๆ ของปรัชญามากกว่า 1 ปรัชญามาผสมผสานกัน เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ ทำให้เกิดปรัชญาการศึกษาแบบผสมผสานขึ้น ซึ่งไม่มีสาระของตัวเองที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการผสมผสานของแต่ละบุคคล/กลุ่ม ซึ่งโดยปกติแล้วการผสมผสานจะไม่ใช้แนวคิดของปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งทั้งหมด การผสมผสานที่ดี จะต้องมีลักษณะที่กลมกลืน คือประเด็นที่นำมาผสมผสานจะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน
ปรัชญาการศึกษาไทย
ในช่วงต้นของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ระหว่างปี พ.ศ.2325-2426 ประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียน แต่มีการเรียนกันที่วัดหรือที่บ้าน ความมุ่งหมายของการศึกษาในขณะนั้นก็คือ การให้สามารถ อ่าน-เขียนภาษาไทย และคิดเลขได้ นอกจากนั้นอาจมีการเรียนช่างฝีมือกันที่บ้าน การเรียนเป็นไปอย่างอิสระ ไม่มีการบังคับว่า ใครจะเรียนอะไร ที่ไหน หนังสือตำราเรียนที่ใช้คือจินดามณี ปฐม ก กา ปฐมมาลา วิธีสอนใช้วิธีให้ผู้เรียนท่องจำ และฝึกหัดทำตาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศยุโรป พระองค์ทรงตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบขึ้น และเริ่มมีการจัดการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดคนให้เข้ารับราชการตามความต้องการของบ้านเมืองขณะนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยเริ่มมีแผนการศึกษา และเริ่มมีการนำปรัชญาและทฤษฎีการศึกษาจากประเทศยุโรปมาดัดแปลงใช้ในโรงเรียนฝึกหัดครูต่อมาการศึกษาได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วหน้า โดยเน้นการให้การศึกษาองค์ 3 ซึ่งได้แก่ พุทธิศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา เพื่อความเป็นพลเมืองดี ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การศึกษาของชาติมุ่งเน้นในเรื่องการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย และการศึกษาได้ขยายไปจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาผู้ใหญ่ มีการนำวิธีการสอนตามขั้นทั้ง 5 ของแฮร์บาท (Herbart) มาใช้ในการสอน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนให้นักเรียนไทยจำนวนมากได้รับทุนไปศึกษาต่อในประเทศอเมริกา และยุโรป ซึ่งต่อมา เมื่อนักเรียนเหล่านั้นสำเร็จการศึกษา ก็ได้นำแนวคิดการจัดการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาของไทย (สาโรช บัวศรี, 2525 :66-68) เป็นเหตุให้ประเทศไทยรับเอาปรัชญาการศึกษาสากล เช่น ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ปรัชญาสัจนิยมวิทยา (Paternalism) และปรัชญาพิพัฒนนิยม (Progressivism) และปรัชญาอื่น ๆ มาใช้ในการจัดการศึกษาของประเทศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นักคิด นักการศึกษาไทยจำนวนหนึ่งได้เริ่มตระหนักในอิทธิพลของต่างประเทศ และเริ่มหันกลับมาศึกษาหาสิ่งดีมีคุณค่าในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยซึ่งเชื่อว่า น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยและคนไทยมากกว่าสิ่งที่รับมาจากประเทศอื่น ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมแตกต่างจากไทย นักการศึกษาไทยไเริ่มตั้งคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการศึกษาขึ้นว่า การศึกษาของไทยควรใช้ปรัชญาอะไร เรามีปรัชญาการศึกษาไทย หรือไม่ และถ้ามี ปรัชญาการศึกษาไทยของเราคืออะไร คำถามเชิงปรัชญานี้ ได้รับการตอบสนองจากนักคิด นักการศึกษามากพอสมควร แต่ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง คือ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) พระสงค์ผู้ทรงคุณความรู้ที่ได้ช่วยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการอธิบายปรัชญาการศึกษาไทยที่ควรจะเป็น ได้อย่างลึกซึ้ง
1. ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม โดยพระธรรมปิฏก
พระธรรมปิฏก ตั้งแต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชวรมุนี ได้อธิบายว่า (พระราชวรมุนี, 2518 : 1-26) ชีวิตเกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบต่าง ๆ จำนวนมากซึ่งจัดได้เป็น 2 ประเภท คือ องค์ประกอบทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งทุกส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภายในและภายนอก ชีวิตจะพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จะอำนวยประโยชน์แก่ตน หรือเกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตน หรือช่วยเพิ่มพูลความสามารถของตนที่จะดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ดังนั้นชีวิตจึงขาดอิสรภาพ ไม่มีความเป็นใหญ่ในตนเอง เพราะต้องถูกครอบงำหรือพึ่งอาศัยปัจจัยภายนอกอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษที่ต่างจากชีวิตแบบอื่น ๆ คือ มีองค์ประกอบภายในจิตใจที่เรียกว่า “สติปัญญา” จึงทำให้มนุษย์สามารถที่จะเรียนรู้ และสามารถจัดปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตน ทำให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งอื่น ทำให้มีอิสรภาพ หรือมีความเป็นใหญ่ในตนเองขึ้น กระบวนการที่มนุษย์เกิดการเรียนรู้โดยใช้สติปัญญานี้เอง คือการศึกษา ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า
“การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพ คือ ทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุด และมีความเป็นใหญ่ในตัว ในการที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด”
พระราชวรมุนี (2518 : 5)
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตต.โต) ได้อภิปรายต่อไปเกี่ยวกับเรื่องจุดหมายของชีวิตตามแนวพุทธธรรมว่า คนเราไม่รู้จุดหมายของชีวิตคืออะไร หรือชีวิตเกิดมาเพื่ออะไรเพราะชีวิตเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร คือช้วิตไม่มีจุดหมายในการเกิดนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง จุดหมายของชีวิตไม่ใช่สิ่งที่มีติดมากับชีวิต แต่เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดให้แก่ชีวิตและการศึกษาควรจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้มนุษย์แสวงหาจุดหมายให้แก่ชีวิตว่า ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไรและอย่างไร ดังนั้น “การศึกษาจึงเป็นกิจกรรมของชีวิต โดยชีวิตและเพื่อชีวิต” (พระราชมุนี, 2518:13)
บนฐานความคิดข้างต้น กระบวนการของการศึกษา จึงควรประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๆ ดังนี้ (พระราชมุนี, 2518:27-47)
1) การมีความรู้ ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการทำลายอวิชชา คือภาวะแห่งความไม่รู้หรือหลงผิด และการทำลายตัณหา อันได้แก่ความทะยายอยากดิ้นรน พร้อมทั้งการสร้างเสริมปัญญา ฉันทะ และกรุณา ซึ่งสามารถฝึกฝนอบรมและพัฒนาได้โดยใช้หลักไตรสิกขา อันได้แก่ (1) ศีล คือการประพฤติปฏิบัติถูกต้องรู้จักยับยั้งควบคุมตัณหาให้อยู่ในขอบเขต และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ทำให้บุคคลอยู่ในภาวะปลอดโปร่งโล่งใจ (2) สมาธิคือการวางใจแน่วแน่ มั่นคง หนักแน่น ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 2 ประการดังกล่าวจะนำให้บุคคลเกิดปัญหา (3) ปัญญาคือการเห็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นทางที่เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ด้วยดีร่วมกัน
การฝึกฝนอบรมด้วยหลักไตรสิกขาดังกล่าว จะเป็นไปได้ดี จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะกัลยาณมิตรที่ดี และปัจจัยภายในคือ โยนิโสมนสิการ อันได้แก่ การคิดอันแยบคาย หรือการคิดอย่างถูกวิธี
2) การปรับตัวเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการดำรงอยู่ ได้แก่ การพัฒนาองค์ประกอบทางด้านร่างกาย ให้มีสุขภาพดี แข็งแรง และการพัฒนาองค์ประกอบทางด้านจิตใจให้มีสติปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น
3) การรู้จักและเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของตนกับสิ่งแวดล้อมและการรู้จักปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตน โดยการรู้จักเอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมแต่พอสมควร เท่าที่มีอยู่ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลแก่ชีวิต การทำตนให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อม และการรู้จักจัดและสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี สามารถที่จะดำรงอยู่อย่างมีความสุข มีอิสรภาพจากภาวะที่ถูกบีบคั้น ดิ้นรน และเป็นทุกข์
พระพุทธศาสนาเป็นพิ้นฐานของสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนไทยจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน มีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง จึงน่าที่การศึกษาไทยจะหันมาพิจารณาแนวคิดดังกล่าวกันอย่างจริงจัง และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของคนไทยเราเอง
2. ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพระราชดำหริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะนำความเจริญมาสู่ประเทศ แต่ก็นำผลข้างเคียงทางลบจำนวนมากมาสู่โลก ประเทศไทยก็ได้รับผลเช่นเดียวกัน เช่น การเกิดภัยแล้ง การขาดฝนในการทำเกษตรกรรมและการกินอยู่ การเกิดน้ำท่วมไร่นาบ้านเรือนเสียหาย อันเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า การเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการบริษัทร้านค้าต่าง ๆ ต้องล้มละลาย อันเป็นผลเนื่องมาจากการลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งการเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาค่านิยมฟุ้งเฟ้อ และปัญหาการว่างงานเป็นต้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ แต่เนื่องด้วยพระอัจฉริยภาพและพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยจึงผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาได้ โครงการในพระราชดำหริในด้านต่าง ๆ จำนวนมาก ได้ยังประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า นับเป็นโชคอันมหาศาลของประชาชนคนไทยโดยทั่วกัน สำหรับทางด้านการศึกษาและการพัฒนาคนนั้นพระองค์ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริต่าง ๆ ผ่านทางกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสต่าง ๆ ในหนังสือ “จอมปราชญ์นักการศึกษา” เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้วิเคราะห์กระแสพระราชดำรัสต่าง ๆ ซึ่งช่วยทำให้เป็นปรัชญาสาระสำคัญของแนวพระราชดำริด้านปรัชญาการศึกษา การจัดการศึกษา และการพัฒนาอันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ สาระสำคัญของแนวพระราชดำริดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2524 : 18-48)
ความหมายของการศึกษา
จากกระแสพระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ การศึกษาเป็นเสมือนเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ในทุก ๆ ด้านทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อช่วยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ความรู้และสติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติงานและพัฒนางาน
จุดมุ่งหมายของการศึกษา
การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาและเพิ่มพูลองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนมุ่งสร้างปัญญาและคุณลักษณะของชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีพเพื่อตนเอง พึ่งพาตนเองได้ สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ และมีส่วนสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม
แนวทางการจัดการศึกษา
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษา การจัดการศึกษาจึงมุ่งให้การศึกษาด้านวิชาการโดยการต่อยอดความรู้ควบคู่ไปกับการฝึกฝนขัดเกลาทางความคิด ความประพฤติและคุณธรรม โดยให้มีความเข้าใจในหลักเหตุผล มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักรับผิดชอบและตัดสินใจในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และควรให้มีการเรียนรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเน้นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการและการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
จากข้อสรุปข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตของแต่ละบุคคลและพัฒนาประเทศชาติโดยส่วนรวมการศึกษาเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของแต่ละคนเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับอย่างทั่วถึงกันทุกคน และใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
3. ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรมจากการวิเคราะห์ของสาโรชบัวศรี
สาโรช บัวศรี (2525:68-71) ได้เชิญชวนให้นักศึกษาไทยหันมาพิจารณาถึงการสร้างปรัชญาการศึกษาไทยจากพระพุทธศาสนาขึ้นใช้ในประเทศแทนการรับเอาปรัชญาจากต่างประเทศมาใช้ โดยได้เสนอโครงสร้างของปรัชญาการศึกษาซึ่งประกอบด้วย (1) ความหมายและจุดมุ่งหมายของการศึกษา (2) แนวนโยบายของการศึกษา หรือแนวทางที่จะให้ถึงจุดหมาย และ (3) วิธีการของการศึกษา โดยได้เสนอแนวความคิดเป็นตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ความหมายและจุดมุ่งหมายของการศึกษา
การศึกษาตามความหมายในนัยทางพระพุทธศาสนา คือ การพัฒนาขันธ์ 5 ของบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บรรลุชีวิตที่ร่มเย็น ชีวิตที่ร่มเย็น ก็คือชีวิตที่มีอกุศลมูล คือ ความโลภ โกรธ หลง น้อยที่สุด หรือไม่มีเลยก็คือการบรรลุนิพพาน ซึ่งแม้จะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชีวิตที่ดีที่สุดมนระดับดังกล่าว การลดอกุศลมูลให้เหลือน้อยที่สุดก็จะสามารถทำให้บุคคลมีชีวิตที่ร่มเย็นได้
การศึกษาตามความหมายในนัยทางพระพุทธศาสนา คือ การพัฒนาขันธ์ 5 ของบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บรรลุชีวิตที่ร่มเย็น ชีวิตที่ร่มเย็น ก็คือชีวิตที่มีอกุศลมูล คือ ความโลภ โกรธ หลง น้อยที่สุด หรือไม่มีเลยก็คือการบรรลุนิพพาน ซึ่งแม้จะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชีวิตที่ดีที่สุดมนระดับดังกล่าว การลดอกุศลมูลให้เหลือน้อยที่สุดก็จะสามารถทำให้บุคคลมีชีวิตที่ร่มเย็นได้
นโยบายหรือแนวทางการศึกษา
แนวทางตามหลักพุทธธรรม ที่จะนำไปสู่จุดหมายของการศึกษาดังกล่าวได้ก็คือ มรรค 8 ซึ่งย่อได้เป็น ศีล สมาธิ และปัญญา นอกจากนั้น ควรให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ (1) ตนเอง (2) สิ่งแวดล้อม และ (3) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เรียนวิชาต่าง ๆ เพื่อจะได้พบว่าตนเองถนัดอะไร มีศักยภาพไปในทางใดและต้องมีการเรียน “จริยธรรมศึกษา” เพื่อควบคุมไม่ให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นไปในทางเลวหรือไม่เหมาะไม่ควร
วิธีการของการศึกษา
กระบวนการตามหลักพุทธธรรมที่สามารถช่วยให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเหมาะสม ได้แก่ การสอนตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นขั้นตอนที่คล้ายกันกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างแนวคิดของ สาโรช บัวศรี ดังกล่าวข้างต้น สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรัชญาการศึกษาของไทยได้ นับได้ว่าท่านได้ริเริ่มแนวคิด และให้แนวทางที่นักการศึกษาไทยสมคสรนำไปพิจารณาในรายละเอียด เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและคนไทยต่อไป
ปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา
ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ปรัชญาการศึกษาเป็นความคิด ความเชื่อถือ ที่ใช้เป็นหลักในการคิด และการจัดหลักสูตรและการสอนให้แก่ผู้เรียน ดังนั้น ผู้เป็นครูซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียน จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเรื่องของปรัชญาการศึกษาด้วย จากประสบการณ์การาสอน การให้คำปรึกษาในการวางแผนการสอน และการนิเทศการสอนของผู้เรียน ปัญหาพื้นฐานที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ มี 2 ประการคือ
1. ครูส่วนใหญ่ตอบคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดจึงจัดการเรียนการสอนแบบที่ทำอยู่ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทำไมไม่สอนแบบอื่น หรือถ้ายิ่งถามตรง ๆ ว่า ครูใช้ปรัชญาหรือหลักการอะไรในการสอน ครูมักจะตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ได้ทำไปแล้ว ความจริงก็คือ ครูส่วนใหญ่ปฏิบัติการสอนไปตามที่เคยได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาและฝึกฝนมา เคยเห็น เคยทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น โดยไม่ตระหนักว่า สิ่งที่ทำนั้น ๆ มาจากหลักการหรือฐานความคิดอะไร หรือไม่รู้ตัวว่า ตนทำสิ่งนั้น ๆ เพราะอะไร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะครูเหล่านั้นมักมุ่งความสนใจหรือได้รับการสอนที่มุ่งไปที่วิธีการทำ วิธีการปฏิบัติ หรือเทคนิควิธีการ มากกว่าการทำความเข้าใจในพื้นฐานหลักการของเทคนิควิธีเหล่านั้น ซึ่งบางท่านอาจจะแย้งว่า การที่ครูปฏิบัติได้แต่บอกหลักการไม่ได้นั้น ก็นับว่าดีแล้ว ทำได้แต่พูดบอกไม่ได้ ก็ไม่น่าจะเป็นไร ข้อแย้งนี้นับเป็นความจริงส่วนหนึ่ง เพราะการทำได้ แต่อธิบายไม่ได้ น่าจะดีกว่าการรู้ การอธิบายได้ แต่ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การทำได้และอธิบายได้ด้วยนั้น เป็นการดีที่สุดครูที่ไม่แม่นในหลักการ สนใจแต่เทคนิควิธีการต่าง ๆ อาจปฏิบัติได้จริง แต่การปฏิบัติมักอยู่ในรูปแบบของการเลียนแบบ ไม่สามารถยืดหยุ่นการสอนของตนใหัเหมาะสมกับผู้เรียนได้ และไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งนั้นไห้งอกงามได้ เพราะขาดหลักที่มั่นคง จะผิดกับครูที่ปฏิบัติโดยแม่นในหลักการ เขาจะสามารถแก้ปัญหา ปรับการสอน ใช้เทคนิควิธีการอื่น ไ ที่นอกเหนือจากแบบอย่างที่เห็นหรือเคยได้รับมา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งยังอยู่บนหลักการเดียวกันได้
2. ในทางตรงกันข้ามกับข้อแรก ครูบางคนบอกว่าตนมีความเชื่อถือ เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดใดแนงคิดหนึ่ง และสอนตามแนวคิดนั้น แต่ปรากฏว่า พฤติกรรมในการสอนตลอดจนการกระทำหลาย ๆ อย่างของครู กลับไม่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวคิดนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ ครูรู้ว่า ครูควรมีคุณสมบัติของความเป็นประชาธิปไตย ครูควรรับฟัง ยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน และควรฝึกให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติดังกล่าวด้วย แต่ปรากฏว่า ครูมีการกระทำหลายอย่างที่เป็นไนทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อผู้เรียนเสนอความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน ก็แสดงกิริยาท่าทางที่ไม่พอใจบางครั้งก็เผลอใช้วาจาดูถูกผู้เรียนที่เรียนอ่อน และแสดงความพอใจ สนับสนุนผู้เรียนที่เรียนเก่ง โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างไม่เสมอภาค ยุติธรรม กรณีทำนองนี้ มีเป็นจำนวนมากเนื่องจากครูส่วนใหญ่รับความคิด ความเชื่อ หรือปรัชญาต่าง ๆ มาจากการศึกษา หรือรับรู้มาว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้ดี ควรกระทำ จนกระทั่งคิดว่าตนมีความเชื่อถือ ศรัทธา ในแนวคิดนั้นจริง ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ในความเป็นจริงหรือใจจริงลึก ๆ แล้ว มิได้มีความเชื่อถือ ศรัทธาอย่างแท้จริงเกิดขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อที่ตนคิดว่าเชื่อ หรืออาจเป็นเพราะสิ่งที่เชื่อนั้นยังไม่เข้มข้น ความเชื่ออื่นหรือความเชื่อเก่าซึ่งแฝงอยู่ในส่วนลึกอาจมีพลังมากกว่าก็เป็นได้ ที่กล่าวมาเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ครูเหล่านั้นมีความผิดที่ไม่สามารถปรับหรือพัฒนาตนเองให้มีพฤติกรรมตามปรัชญาการศึกษาที่พึงประสงค์ เพียงแต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนหรือการรับรู้ในแนวคิดใด ๆ นั้น แม้จะสามารถปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ต่าง ๆ ได้ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้เต็มที่ว่า จะช่วยให้บุคคลนั้นมีความเชื่อถือ ศรัทธาในความคิดนั้นอย่างแท้จริง ความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริง จนกระทั่งการกระทำต่าง ๆ ของตนมีความสอดคล้อง กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเชื่อของตนนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือ เวลา ประสบการณ์ บทพิสูจน์ ผลที่ได้รับ ฯลฯ ซึ่งสามารถช่วยปรับระดับความเชื่อให้มากขึ้นหรือลดลงได้ แล้วแต่กรณี
ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาความเข้าใจของครูเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา
ปัญหาหลัก ๆ ทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นปัญหาพื้นฐานที่สมควรได้รับเอาใจใส่ดูแล และแก้ไข ซึ่งผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
ก. ข้อเสนอแนะสำหรับครู
1. ในการศึกษาเกี่ยวกับการสอน ครูพึงให้ความสนใจในหลักการ มิใช่มุ่งความสนใจไปที่
เทคนิควิธีการเท่านั้น ครูควรพยายามทำความเข้าใจในหลักการ จับหลักการให้แม่นและหมั่นประยุกต์ ใช้หลักการนั้นในสถานการณ์ที่หลากหลาย
2. ครูพึงศึกษาแนวความคิด ความเชื่อ หรือหลักการต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย
และเลือกสรรสิ่งที่ตนเชื่อถือ หมั่นวิเคราะห์การคิดและการกระทำของตนว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และการศึกษาผลของการกระทำ เพื่อปรับเปลี่ยนหรือยืนยันแนวความคิดความเชื่อนั้นต่อไป
3. ครูพึงเปิดใจกว้างในการศึกษาแนวความคิด ความเชื่อ หรือหลักการต่าง ๆ ที่แตก
ต่างไปจากความคิดของตน และเปิดโอกาสให้ตนองได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยการทดลองปฏิบัติ หรือศึกษา วิจัย เพื่อพิสูจน์ทดสอบแนวคิดใหม่ ๆ อันอาจจะนำมาซึ่งทางเลือกใหม่ ๆ ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีความแปลกใหม่ มีชีวิตชีวา น่าตื่นเต้น และน่าเรียนรู้ ทั้งสำหรับครูและผู้เรียน
ข. ข้อเสนอแนะสำหรับสถาบันผลิตครู และหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาครู
1. สถาบันผลิตครูควรฝึกให้นิสิตนักศึกษาครูสามารถกระทำตามข้อเสนอแนะทั้ง 3 ข้อ ที่ให้ไว้สำหรับครู ดังกล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็หมายถึง การปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายสาระและวิธีสอนของตนให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาครู และหน่วยงานหรือโรงเรียนที่ครูสังกัดอยู่ ควรให้การสนับสนุนครู ในการศึกษา วิจัย ทดลอง พิสูจน์ ทดสอบ ความคิด ความเชื่อต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้ศึกษาผลของการกระทำ อันจะเป็นแรงเสริมทางบวกหรือทางลบต่อการเชื่อถือหรือปรับเปลี่ยนความเชื่อของตน
3. หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาครู และหน่วยงานหรือโรงเรียนที่ครูสังกัดอยู่ ควรให้
การสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามความคิด ความเชื่อ ที่ครูเลือกสรร เพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติตามแนวคิดนั้นได้อย่างจริงจัง และเต็มที่
4. หน่วยงานหรือโรงเรียนที่ครูสังกัดอยู่ ควรจัดระบบการนิเทศภายในที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อช่วยเหลือครูในการสอนและการศึกษาทดลองต่าง ๆ รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ครูได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ๆ ด้วยหากทุกฝ่ายต่างพยายามช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว ก็หวังได้ว่าเราจะได้ครูซึ่งมีความรู้ความ
สามารถทั้งในด้านหลักการและการปฏิบัติการสอนที่มีประสิทธิภาพตามต้องการ
สรุป
ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาแม่บทหรือปรัชญาทั่วไปที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต หากบุคคลมีความเชื่อว่า ความจริงของชีวิตเป็นอย่างไรปรัชญาการศึกษาจะจัดการศึกษาพัฒนาคนและพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามนั้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษานั้น ๆ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นอย่างไร จึงต้องศึกษาถึงที่มีคือปรัชญาการศึกษาด้วยปรัชญาการศึกษาสากลที่นิยมกันโดยทั่วไปมี 6 แนวด้วยกัน ได้แก่
1. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ความจริงทางธรรมชาติ
2. ปรัชญาสัจนิยมวิทยา (Paternalism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าโลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่าถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป
3. ปรัชญาพิพัฒนนิยม (Progressivism) ซึ่งเชื่อว่าการดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดีและการกระทำที่เหมาะสม
4. ปรัชญาอัตนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อในความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง
5. ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม เป็นหน้าที่ของสมาชิกของคนในสังคมทุกคน และการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
6. ปรัชญาการศึกษาแบบผสมผสาน เป็นปรัชญาที่ไม่ใช้แนวคิดของปรัชญาใด ปรัชญาหนึ่งทั้งหมด แต่ได้ผสมผสานปรัชญาหลายปรัชญาแข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและไม่ขัดแย้งกัน
ส่วนทางด้สนปรัชญาการศึกษาขอวไทยนั้น ผู้ให้แนวคิดที่สำคัญ ๆ คือ พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุต.โต) ซึ่งได้วิเคราะห์และเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรมจากการวิเคราะห์ของสาโรช บัวศรี ซึ่งปรัชญาดังกล่าวสมควรนำมาพิจารณาและใช้ในการวางนโยบาย แนวทางและจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป และเนื่องจากปรัชญาการศึกษาเป็นที่มาหรือหลักยึดในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนของครู ผู้ผลิตครูจึงควรสอนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียน (ครูในอนาคต) ได้เรียนรู้หลักการให้แม่น มิใช่มุ่งเน้นแต่เทคนิคของการปฏิบัติเนื่องจากการปฏิบัติและการแก้ปัญหาโดยขาดควาามรู้ ความเข้าใจและความเชื่อในหลักการแล้ว ย่อมจะเกิดปัญหาในภายหลัง
Excellent.
ตอบลบ